Friday, March 2, 2012

๗ ข้อคิดดี ๆ สุดยอด ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีประโยชน์มากจริง ๆ สำหรับนักลงทุน

ท่านทราบหรือไม่ว่า  วอร์เรน บัฟเฟตต์  มหาเศรษฐีโลก นั้น  ไม่เคยเขียนหนังสือ
การลงทุน

แต่แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนของเขานั้น  ส่วนใหญ่น่าจะมาจากรายงานประจำปีที่เสนอต่อ
ผู้ถือหุ้นบริษัท เบิร์กไชร์ แฮทธะเวย์  ที่เขาเป็นประธานอยู่  และอีกจำนวนไม่น้อยมาจาก
การพูดหรือแสดงความคิดเห็นในที่ต่าง ๆ

    หลังจากนั้น ก็มีคนหลายคนที่ศึกษา และรวบรวมความคิดของเขาออกมาเป็น
หมวดหมู่เป็นระบบ  และกลายเป็นหนังสือแนวทาง หรือกลยุทธ์การลงทุน "แบบบัฟเฟตต์"


    ต่อไปนี้  เป็นข้อคิดดี ๆ ที่เป็น "สุดยอด" ของวอร์เรน บัฟเฟตต์  รวม ๗ ข้อใหญ่ ๆ
ด้วยกัน  ได้แก่


    ๑.  อย่าขาดทุน
  
    นั่นหมายความว่า  สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุน ก็คือ  คุณต้องพยายามอย่าให้ขาดทุน   การลงทุนของบัฟเฟตต์  จะเน้นการลงทุนถือหุ้นระยะยาวมาก   หุ้นจะขึ้นหรือ
เปล่าในเดือนหน้าหรือปีหน้า  เขาไม่สนใจ  เขาสนใจแต่ว่า  ในระยะยาวแล้ว  หุ้นที่เขาซื้อ
จะไม่ลดลงอย่างถาวร  เนื่องจากผลการดำเนินงานแย่ลง


    ๒.  เป็นเรื่องที่ดีกว่า  ที่เราจะซื้อธุรกิจที่ดีสุดยอดในราคาปานกลาง  แทนที่จะซื้อธุรกิจปานกลางในราคาที่ดีสุดยอด

    บัฟเฟตต์นั้นไม่เน้นซื้อของถูกหรือซื้อได้ในราคาที่ "ดีสุดยอด"   เขาคิดว่า ธุรกิจ
ที่ดีสุดยอดนั้น  ในระยะยาวแล้ว มูลค่าของกิจการก็จะเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ    ดังนั้น  ถ้าเรา
สามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม  ไม่แพง  ราคาหุ้นก็จะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย  ๆ ตามผล
ประกอบการ  ยิ่งถือนานก็ยิ่งดี


    ๓.  "เวลาเป็นเพื่อนของธุรกิจที่มหัศจรรย์ แต่เป็นศัตรูของธุรกิจพื้นๆ"

    นั่น ก็คือ ถ้าเราถือหุ้นของ "ธุรกิจมหัศจรรย์" หรือธุรกิจที่ดีสุดยอด คุณจะอยากถือไว้นานที่สุด ให้เวลากับการลงทุน เพราะยิ่งเวลาผ่านไป กำไรของบริษัทก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่สูงต่อเนื่อง

    ตรงกันข้าม ธุรกิจพื้นๆ นั้น ในบางช่วงเช่นช่วงแรกๆ ราคาอาจจะปรับตัวขึ้นด้วยสาเหตุอะไรบางอย่างซึ่งอาจจะรวมถึงการที่มีคนเห็น ว่ามันเป็นหุ้นที่ถูกและเข้ามาซื้อทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น แต่เมื่อถือหุ้นนานขึ้นเรื่อยๆ แต่กำไรของบริษัทและราคาหุ้นกลับไม่ปรับตัวขึ้น ผลก็คือ เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนต่อปีก็จะลดลงเรื่อยๆ  ยิ่งถือนานก็ยิ่งแย่


    ๔.  "แนวทางของเรา ก็คือ กำไรจากการไม่มีการเปลี่ยนแปลง แทนที่จะเปลี่ยนแปลง"

    นั่นก็คือ บัฟเฟตต์ มองว่าธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายด้วยปัจจัยอื่นโดยเฉพาะทางด้านของ เทคโนโลยี จะถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถคาดการณ์ผลประกอบการได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับเขาที่ต้องการลงทุนระยะยาวมากหรือตลอดไป ดังนั้น ถ้าอะไรที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย เขาก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่ลงทุน  แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางทีอาจจะทำให้บริษัทหนึ่ง มีผลประกอบการที่ก้าวกระโดด และทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นได้มหาศาลอย่างหุ้นอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย กิจการที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายก็มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่บัฟเฟตต์จะรับได้


    ๕.  "สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับเรา ก็คือ บริษัทที่ยิ่งใหญ่ ประสบกับปัญหาชั่วคราว เราต้องการซื้อมันเมื่อมันอยู่บนโต๊ะผ่าตัด"

    นี่เป็น "โอกาสทอง" ที่บัฟเฟตต์แสวงหาตลอดมา จากอดีตจะเห็นว่าเขาเคยทำเงินมหาศาลอย่างรวดเร็วจากการซื้อหุ้นของกิจการที่ ดีสุดยอด แต่ประสบปัญหาชั่วคราวที่สามารถแก้ไขได้ อาทิ หุ้นของอเมริกันเอ็กซ์เพรส หุ้นโค้ก และหุ้นอีกหลายตัวในช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในอเมริกา


    ๖.  "นานมาแล้ว เซอร์ไอแซคนิวตันให้กฎ ๓ ข้อของการเคลื่อนที่ของวัตถุซึ่งเป็นผลงานที่เป็นอัจฉริยะ แต่ความสามารถของนิวตันไม่คลุมไปถึงเรื่องการลงทุน เขาขาดทุนมากมายในวิกฤตการณ์ ฟองสบู่เซาท์ซี

    เขากล่าวภายหลังว่า "ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่ผมไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของคนได้"

    ถ้าเขาไม่ถูกทรมานจากการขาดทุนในครั้งนั้นมากเกินไป เขาคงได้ค้นพบกฎ
ข้อที่ ๔  ของการเคลื่อนไหว นั่นคือ "สำหรับนักลงทุนโดยรวม  ผลตอบแทนลดลงเมื่อมี
การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น"

    ความหมายของคำกล่าวนี้ก็คือ บัฟเฟตต์มองว่า ยิ่งเราซื้อขายหุ้นมากขึ้น เราก็จะต้องเสียต้นทุนค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับส่วนต่างราคาซื้อราคาขาย  และอาจจะเกิดความผิดพลาดในด้านของจังหวะการซื้อขาย ทั้งหมดนั้นทำให้ยิ่งเทรดหุ้นมาก ผลตอบแทนก็ยิ่งลดลง


    ๗. "เหนือสิ่งอื่นใด คุณจะพบว่า ใครว่ายน้ำล่อนจ้อนก็ต่อเมื่อกระแสน้ำลดลง"

    ความหมายก็คือ การที่จะดูว่าใครมีฝีมือในการลงทุนจริงๆ หรือหลักการลงทุน
แบบไหนได้ผลในระยะยาวจริง ๆ นั้น  เราจะต้องดูตอนที่ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำหรือซบเซาลงมากๆ เพราะนั่นคือ เวลาที่จะพิสูจน์ว่ากลยุทธ์การลงทุนใช้ได้ผลจริง   เพราะในยามที่ตลาดดีหรือช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นโดดเด่นเป็นกระทิง  กลยุทธ์หลายๆ แบบอาจให้ผลดี หรือแม้แต่ดีกว่ากลยุทธ์ที่กูรูระดับโลกใช้กัน แต่ในยามที่ตลาดตกต่ำ กลยุทธ์นั้นอาจจะทำให้ขาดทุนมหาศาลและทำให้ผลตอบแทนโดยรวมระยะยาวกลับแย่ลง หรือไม่ดีอย่างที่คิด

    ทั้งหมดก็เป็นเพียงบางส่วนของ "อัจฉริยะ" ของบัฟเฟตต์  ที่ได้ผ่านการทดสอบมาต่อเนื่องยาวนาน   คิดแล้วน่าจะถึงห้าสิบปีที่เขาลงทุนมา เขา บอกว่า "คนชอบอ้างอิงความคิดของเรา แต่น้อยคนที่จะปฏิบัติตามแนวทางการลงทุนที่เราทำ" และนี่ก็คงเป็นเรื่องธรรมชาติของคน หลักการลงทุนแบบบัฟเฟตต์ มันฝืนความรู้สึกของคนที่มักจะชอบ "ทำอะไรบางอย่าง" การซื้อแล้วถือหุ้นไว้เฉย ๆ แบบบัฟเฟตต์นั้น ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย

2 comments: